ในโลกของการทำงานนั้น แน่นอนที่องค์กรจะต้องมีผู้นำในการขับเคลื่อน ซึ่งผู้นำที่นี้อาจเป็นแค่ตัวคนๆเดียว (Individual) อย่างเช่น เจ้าของบริษัท, ท่านประธานบริษัท, CEO หรือในรูปแบบกลุ่ม (Collective Leaderships) อย่าง บอร์ดบริหาร (Board of Directors), คณะผู้บริหารจัดการระดับสูง ก็เป็นได้ ซึ่งด้วยอำนาจ ความรับผิดชอบที่มีในตัวองค์กรนั้น ทำให้เลี่ยงไม่ได้ที่ เหล่าผู้นำที่จะต้องเข้ามามีบทบาทในการสร้างและเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร
บทบาทของผู้นำต่อวัฒนธรรมองค์กร
การทำตัวเพื่อให้เป็นแบบอย่าง (Role Model)
เรื่องใหญ่ที่สุดของการขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการ เป็นหัวหน้า เป็นผู้นำ คือ การออกฎ แนวทางปฏิบัติมามากมาย แต่ตัวผู้นำเองกลับไม่ทำตัวเป็นแบบอย่าง เอาแต่สั่งให้คนอื่นทำอย่างเดียว ทำให้แม้คนอาจจะทำอย่างผิวเผิน แต่ก็ไม่มีใจในนั้น ไม่มีความเชื่อในคุณค่าเชิงวัฒนธรรมจริงๆ เพราะผู้นำไม่ยอมทำตัวให้เป็นแบบอย่าง ดังนั้น ผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นในฐานะ ปัจเจก หรือ ในฐานะคณะผู้นำ จะต้องเอาใจใส่ในบทบาทของตัวเองให้ดี
ทำการสอดส่องอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเก็บข้อมูลเชิงลึก (Insight)
ข้อมูลทั้งในเชิงตัวเลขและเชิงการสังเกตุการณ์นั้นล้วนแต่มีความสำคัญ ผู้นำที่เอาแต่อยู่ชั้นบนๆไม่ลงมาตรวจสอบข้อมูลความเป็นไปเลย ก็มักจะไม่เห็นว่า วัฒนธรรมองค์กรในบริษัทของตนนั้น กำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางใด เจริญขึ้นหรือเสื่อมทรามอย่างไร กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ใกล้จะสายไปแล้ว ดัวนั้น ตัวผู้นำมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลงมาสังเกตการณ์ เก็บข้อมูล ตรวจสอบ ด้วยตนเองอย่างใกล้ชิด
ปฏิบัติทันทีเมื่อได้รับฟีดแบ็ค (Take Action on Feedback)
อย่างที่เราเคยได้กล่าวไว้ในบทความด้านวัฒนธรรมองค์กรที่ผ่านมา หลายองค์กรนั้นวัฒนธรรมกลับเสื่อมทรามลงไป ไม่ว่าพนักงานไม่อยู่ในร่องในรอยบนค่านิยมองค์กร หรือ พนักงานไม่ทำตามกฎ ละเมิดกฎเป็นว่าเล่น ก็เนื่องมาจากพนักงานรู้สึกว่า ความเห็นของพวกเขาไม่ถูกนำไปปฏิบัติ หรือหัวหน้ามีแผนมีความเห็น ที่นำไปสู่การจัดทำแผนปฏิบัติ (Action Plan) จนพวกเขามองว่า บริษัทไม่เคยจะใส่ใจจริงจังในวัฒนธรรมองค์กร ดังนั้น ผู้นำต้องเอาใจใส่ให้มากในการเก็บ รับ และนำเอา Feedback ไปใช้งาน
สร้างธรรมเนียมในการให้แรงเชียร์และกำลังใจกับผู้ที่ทำงานลุล่วง (Recognition)
การส่งต่อความชื่นชมยินดีนั้น คือสิ่งที่ดีและควรทำไม่ว่า วัฒนธรรมของบริษัทนั้นจะอยู่ในรูปแบบใด เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมพลังใจและขับเคลื่อนองค์กรในเชิงบวก เป็นหนึ่งในสิ่งกระตุ้นการทำงานให้เต็มประสิทธิภาพ และช่วยให้พนักงานนั้นมีความผูกพันกับองค์กรและการทำงาน ทำให้พวกเขามีความมุ่งมั่นที่จะ live up กับวัฒนธรรมขององค์กร ณ ปัจจุบัน ต่อไป โดยผู้ที่จะขับเคลื่อนให้เกิดธรรมเนียมการส่งมอบสิ่งนี้ให้กันได้ คือ ผู้นำองค์กรนั้นเอง